x
Submitted by CUEDU_PR on 27 October 2023
#EDUCUNEWS “การประชุมคณะกรรมการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... ระดับประถมศึกษา และคู่มือการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... ระดับประถมศึกษา”
.
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... ระดับประถมศึกษา และคู่มือการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... ระดับประถมศึกษา ณ ห้องประชุมคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ (ห้อง 605) อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการประชุมในรูปแบบ Hybrid Conference
 
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี บรรยายพิเศษเรื่อง “ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อใช้ในการออกแบบตรวจสอบและประเมินแผนการจัดการเรียนรู้” นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้มีการประชุมร่วมกันหาแนวทางเกี่ยวกับรายละเอียดสมรรถนะหลัก รายละเอียดโครงสร้างเวลาเรียน การจัดทำตัวอย่างโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรสถานศึกษาสมรรถนะเฉพาะ การจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ และการออกแบบตัวอย่างการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตรตามแนวคิด Competency - based Education โดยมีหลักการสำคัญ 5 ประการคือ
  1. เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนที่เหมาะสมตามช่วงวัย เน้นการพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Development) เพื่อการเป็นเจ้าของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (Life-Long Learning)
  2. เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงระหว่างสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะในการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงาน
  3. เป็นหลักสูตรที่จัดสภาพแวดล้อมและเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Pathway) ที่หลากหลาย และระบบสนับสนุนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพหุปัญญาและธรรมชาติของผู้เรียน
  4. เป็นหลักสูตรที่มีกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การใช้สื่อและสถานการณ์การเรียนรู้ร่วมสมัย มีความหลากหลาย และยืดหยุ่น ตามความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน (Differentiated Instruction) บริบท จุดเน้นของสถานศึกษา และชุมชนแวดล้อม
  5. เป็นหลักสูตรที่มุ่งใช้การประเมินเพื่อการพัฒนาและสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance) ที่เป็นธรรม เชื่อถือได้ เอื้อต่อการถ่ายโยงการเรียนรู้และพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นตามระดับความสามารถ