วันพุธที่ 7-8 กันยายน 2565 ณ หอประชุมใหญ่จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีไหว้ครู โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม ประจำการศึกษา 2565
.
นอกจากกิจกรรมไหว้ครู ในปีนี้ทางโรงเรียนทั้งสองแห่งได้มีกิจกรรมแสดงความยินดีมอบเข็มสภานักเรียน รางวัลพินิจค้า มอบโล่เกียรติยศให้กับศิษย์เก่า และบัตรเกียรติยศให้กับนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียน มีความประพฤติดี ทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียน
อีกทั้งกล่าวให้โอวาทและแสดงความชื่นชมแก่นักเรียน คณาจารย์ และบุคลากร ทุกคนที่ได้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาการเรียนการสอนและกิจการของโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้าทุกด้าน
พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่เป็นประเพณีของไทยที่นิยมปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของครู การไหว้ครูเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง
พิธีไหว้ครูในโรงเรียน โดยปรกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดี ดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครูในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้หลัก 3 อย่างในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่
1. หญ้าแพรก สื่อถึง ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์
2. ดอกเข็ม สื่อถึง ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม
3. ดอกมะเขือ สื่อถึง การเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึง นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง
4. ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก
ภาพจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม