ธรรมะดีๆ เมื่อวันพฤหัสที่ 30 เมษายน 2563 เรื่องการตั้งจิตไว้ผิด (สรุปคำสอนสมเด็จญาณสังวร) ถ่ายทอดโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา บวรกิติวงศ์
สมมติว่านาทีสุดท้ายมาถึง ลมหายใจกำลังจะหมดไป ผู้คนที่อยู่ล้อมรอบเตียงได้แต่มองดูเรา แม้หมอ พยาบาลก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถเอาลูก สามี ไปกับเราได้ สิ่งที่สร้างมาทั้งหมดทั้งชีวิตอยู่ที่ไหน ล้วนเป็นสมบัติโลก เอาไปไม่ได้ แล้วชีวิตที่เหลือควรดำเนินอย่างไร
ชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี ทุกอย่างอยู่ที่ใจ มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นหัวหน้า จะทุกข์จะสุขอยู่ที่ใจ บางคนทุกข์ง่าย บางคนทุกข์ยาก การวางใจหรือการตั้งจิตจึงมีความสำคัญมาก ถ้าตั้งจิตไว้ผิดอยู่ที่ไหนก็ทุกข์ ผู้ตั้งจิตไว้ผิดคือผู้ที่คิดว่าตนเองดีแล้ว ทำอะไรตามนิสัยเคยชิน ไม่ฟังคำตักเตือน เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นความคิดที่ทำลายตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับการฝึกฝนจิตในทางที่ถูก เป็นการปิดโอกาสในการพัฒนา ทำให้เสียเวลาไปเป็นชาติทีเดียว ผู้ตั้งจิตไว้ผิดจึงเป็นโทษมหันต์ ผู้ตั้งจิตไว้ถูกจึงเป็นคุณอนันต์ ต้องไม่ลืมว่าคนเรามักแพ้อำนาจของกิเลส (โลภ โกรธ หลง) เราไม่สามารถดับกิเลสได้ด้วยตนเอง จนกว่าจะมีกัลยาณมิตรคือคำสอนของพระพุทธเจ้า มาช่วยควบคุมจิต การตั้งจิตไว้ถูกเป็นอย่างไร
การตั้งจิตไว้ถูกคือการยอมรับว่าลำพังตัวเองไม่มีกำลังมากพอที่จะสู้กิเลส การชนะความโลภแทบเป็นไปไม่ได้ เงินทองทรัพย์สินยิ่งมากยิ่งดี ไม่รู้จักพอ แล้วจะเอากำลังส่วนไหนมาสู้ ใครพูดอะไรไม่ถูกหูนิดหน่อยก็โกรธ เราแพ้กิเลสวันยังค่ำ นอกจากฟังพระพุทธเจ้าผู้ชนะกิเลส พระองค์สอนให้สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน หากมีสติปัญญาทำได้ก็ไม่ต้องศึกษาคำสอน แต่หากสติปัญญาไม่พอ พระองค์สอนว่าเมื่อมีอารมณ์โกรธ ให้ปล่อยจิตจากบุคคลหรือเรื่องที่ได้ยิน มากำหนดรู้ลมเข้าออก ถ้าจิตปล่อยอารมณ์โกรธได้ กิเลสคือโทสะก็จะตกไป การผลักกิเลสให้ตกไป เงื่อนสำคัญคือการปล่อยอารมณ์โกรธ ทำได้หรือไม่ ในขณะที่จิตอยู่ในอารมณ์โกรธเรียกว่าตั้งจิตไว้ผิด จิตอยู่ในอารมณ์กรรมฐานคือการรู้ลมเรียกว่าตั้งจิตไว้ถูก การรู้ลมทำให้เห็นเกิดดับ ลมเข้าเป็นเกิด ลมออกเป็นดับ เห็นเกิดดับสืบต่อเนื่องกันไป ประโยชน์ของความสืบต่อคือทำให้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตัวสืบต่อก็ให้โทษคือทำให้เรารู้สึกทุกอย่างมีตัวตน ทั้งๆที่ความจริงมีแต่การเกิดเพียงแวบเดียว การดับเพียงแวบเดียว ขณะเล็กนิดเดียว จึงไม่มีตัวตนอยู่จริง เมื่อเห็นเกิดดับจะทำให้เห็นกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) การเห็นเกิดดับนี้เรียกว่าการทำวิปัสสนา
เมื่อไรก็ตามที่จิตขุ่นแสดงว่าตั้งจิตไว้ผิด ให้ปล่อยสิ่งที่ทำให้จิตขุ่น ย้ายมาอยู่ในอารมณ์กรรมฐานคือดูลมเข้าออก หากการฝึกฝนยังไม่มากพอจะไม่มีแรงปล่อยอารมณ์โกรธได้ทัน จึงต้องฝึกให้ชำนาญเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่เหลือ ความแตกต่างของวิปัสสนาและสมถะ
คนที่มีจิตตั้งมั่นดีอยู่แล้วควรเน้นทำวิปัสสนา แต่คนที่จิตยังไม่มีสมาธิควรเน้นทำสมถะ วิปัสสนาเน้นการเห็นรูปและนามเกิดดับ เห็นทุกอย่างในโลกล้วนเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) เกิดดับตลอดเวลารวดเร็วมาก ทุกอย่างมีแต่เกิดดับ ไม่มีตัวตนอยู่จริง จึงไม่ควรยึด วิปัสสนาทำให้เกิดปัญญาเห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ในที่สุดจะปล่อยวาง ไม่ยึดเพราะรู้ว่าการยึดเป็นทุกข์ แต่สมถะเน้นการเพ่งจุดใดจุดหนึ่งจนจิตสงบ มีสมาธิ เช่นการดูลมหายใจเข้าออก หากเป็นวิปัสสนาจะเห็นการเกิดดับกล่าวคือลมที่เข้าเรียกเกิด ลมที่ออกเรียกดับ นอกจากเห็นเกิดดับแล้วยังเห็นความไม่เที่ยงกล่าวคือ ลมเข้าและลมออกจากการหายใจแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน นอกจากนี้ผู้รู้ลมก็ไม่เที่ยง รู้ลมบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ที่สุดจะเห็นความไม่มีตัวตนอยู่จริง มีแต่ของเกิดดับและไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น จะจางคลายความยึดมั่นลงทีละน้อย ส่วนสมถะจะเพ่งลมเข้า ลมออก อาจกำหนดรู้ลมที่ปลายจมูกหรือกำหนดรู้ลมเข้าท้องพอง ลมออกท้องแฟบ เพ่งที่ปลายจมูกหรือท้อง บางคนถนัดกำหนดพุทโธ ทำจนจิตสงบนิ่งไม่ไหวติง พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าควรทำทั้งสองอย่างไปด้วยกันเหมือนขาสองข้างช่วยกันเดินจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว
ปัญหาที่พบคือบางคนนั่งสมาธิไม่ถูกต้อง กล่าวคือชอบให้จิตแช่ในอารมณ์โปร่งโล่งเบาสบาย เพราะมีความสุขมาก (เรียกว่าติดสุข) หากแช่จิตในอารมณ์เบาสบายนานๆ เป็นเหตุให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เนื่องจากธรรมชาติของจิตจะเกิดดับเคลื่อนไหวตลอดเวลา การบังคับให้จิตอยู่นิ่งๆ จึงเป็นการฝืนธรรมชาติ สะสมเป็นเวลานานทำให้เป็นโรค ดังนั้นเมื่อทำสมถะคือนั่งสมาธิจึงไม่ควรติดในอารมณ์นิ่งดิ่งเดี่ยวเป็นเวลานาน วิธีแก้คือเมื่อนิ่งก็รู้ตัวว่านิ่ง สงบก็รู้ตัวว่าสงบ เน้นการรู้ตัวคือการมีสัมปชัญญะจะเหมาะสมกว่าเพราะไม่ว่าจะนั่งนานขนาดได้รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 ยังไงก็ยังมีตัวตนอยู่ดี ไม่สามารถหลุดพ้นหรือว่างจากตัวตนได้ (เหมือนตอนพระพุทธเจ้าเรียนจากอาฬารดาบถจนได้ฌาน 7 และอุทกดาบถจนได้ฌาน 8 ก็ไม่สามารถบรรลุพระนิพพาน ในที่สุดตรัสรู้ด้วยพระองค์เองจากการทำวิปัสสนาเห็นทุกอย่างเกิดดับเป็นธรรมดาธรรมชาติอยู่อย่างนั้น) สรุปสมถะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับวิปัสสนา เพราะขณะจิตวุ่นวายต้องทำให้สงบก่อน เมื่อสงบแล้วจึงเกิดปัญญาเห็นความจริงเกิดดับอยู่อย่างนั้นเองได้
แนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อจิตถูกกระทบหากหวั่นไหวไปตามอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ แบบนี้ถือว่าสอบตก หากกระทบแล้วปล่อยวางอารมณ์ที่เกิดคือเห็นเป็นธรรมดา อันนี้ถือว่าสอบผ่าน ใน 1 วันหากจิตมีโลภ โกรธ หลง จิตขุ่น เป็นการวางจิตไว้ผิด การวางจิตที่กรรมฐานเช่นลมหายใจเป็นการวางจิตไว้ถูก จิตไม่สงบทำสมถะจนสงบแล้วทำวิปัสสนา ฝึกไว้จนชำนาญเป็นงานหลักสำหรับเวลาที่เหลืออันน้อยนิด สาธุ