x

ายพชร วงชัยวรรณ์
นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์

จิตรกรรมฝาผนังหรือ “ฮูปแต้ม” เป็นคำเรียกจิตรกรรมฝาผนังในภาษาลาว โดยคำว่า “ฮูป” คือ รูป ส่วนคำว่า “แต้ม” คือการวาดหรือระบายสี โดยฮูปแต้มที่ปรากฏในภาคอีสานแฝงไปด้วยเสน่ห์และความน่าสนใจไม่ด้อยค่าไปกว่าจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ของวัดหลวง อีกทั้งยังคงจุดประสงค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ธรรมชาดกสอนใจและแอบสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยก่อนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ค้นหาและสืบทอดต่อไป

ด้วยฝีมือการวาดภาพจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้รูปแบบการวาดภาพมีเทคนิคพิเศษเฉพาะตัว เนื่องจากมีลวดลายที่ไม่สลับซับซ้อน จึงทำให้เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพียงแค่มองปราดเดียวก็สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างกุศโลบายแก่นธรรมได้อย่างลึกซึ้งแต่ไม่ลึกลับจนเกินไป

ฮูปแต้มเป็นคำที่ใช้เรียกจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสาน มีลักษณะการถ่ายทอดที่ตรงไปตรงมาและมีความเป็นกันเองภายในชุมชน ซึ่งแตกต่างจากจิตรกรรมที่เราเคยเจอในภาคกลางที่จะมีความเนี๊ยบในด้านลวดลายตามแบบขนบประเพณี ต่างจากฮูปแต้มในภาคอีสาน ที่เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นถ่ายทอดกันเองจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นก็จะมีอัตลักษณ์หรือคาแรคเตอร์ของตัวละครในลักษณะทางทัศนศิลป์ที่มีความเรียบง่าย มีความจริงใจ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและชวนน่าค้นหา เรียกได้ว่าฮูปแต้มเปรียบเสมือนภาพถ่ายที่ได้บันทึกเรื่องราวในอดีตและสะท้อนถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของช่างแต้ม”

นายพชร วงชัยวรรณ์ นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีความสนใจในศิลปะอันเรียบง่ายของชาวอีสานและต้องการถ่ายทอดความรู้ความสามารถด้านศิลปะของคนรุ่นเก่าในวิถีการเรียนรู้แบบใหม่ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนได้เข้าใจและเห็นคุณค่า สามารถนำไปใช้เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพจากต้นทุนทางวัฒนธรรมภายในถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง โดยสื่อสารผ่านชุดนวัตกรรม “ชุดการเรียนรู้ฮูปแต้มจังหวัดขอนแก่นสำหรับเยาวชน ชุด “แก่นนคร เพลิน (Plearn)” สำหรับเยาวชน ในช่วงอายุ 15-24 ปี เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ศิลปะประจำถิ่นผ่านชุดกิจกรรมตามรอยฮูปแต้ม

คลิกอ่านเพิ่มเติม