x
Submitted by CUEDU_PR on 14 July 2020

ธรรมะดีๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563 สรุปคำสอนหลวงปู่แบน ตอนที่ 2

ถ่ายทอดโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา  บวรกิติวงศ์

หลวงปู่เล่าว่า คนในปัจจุบันเจอกันจะทักทายว่า สบายดีหรือ คนสมัยก่อนจะทักว่า พอทนได้อยู่หรือ ภาวนาถึงไหนแล้วสงบดีหรือไม่ พิจารณาร่างกายวันละกี่รอบ เป็นอย่างไร แยบคายดีหรือไม่ ตั้งใจพิจารณาร่างกายจริงจังแค่ไหน ทำยิ่งกว่านี้อีกได้หรือไม่ นอกจากพิจารณากายแล้วยังพิจารณาอย่างอื่นอีกหรือไม่ เป็นต้น งานของผู้ปฏิบัติคือการพิจารณาร่างกายจิตใจว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือพิจารณาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (มิใช่ตัวตน) หรือพิจารณาเป็นสิ่งปฏิกูลหรือพิจารณาเห็นการเกิดดับ หรือพิจารณาสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น หรือพิจารณาหลายอย่างพร้อมๆกันไป แล้วแต่ถนัด ทำให้มากจนกว่าจะลงแก่ใจ มีความเพียรปฏิบัติ  

.

หลวงปู่บอกว่าการพิจารณาร่างกายทำได้หลายวิธี เช่นเห็นเป็นธาตุ ร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หรือพิจารณาอิริยาบถย่อย ทำอะไรก็มีสติรู้ตัว หรือพิจารณาเห็นร่างกายเป็นสิ่งปฏิกูล (อสุภกรรมฐาน) หรือพิจารณากรรมฐานห้า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือกรรมฐานสามสิบสองหรือ กรรมฐานผมเส้นเดียว หรือใช้กรรมฐานกระดูก เห็นร่างกายมีแต่กระดูก เห็นคนเดินมาก็มีแต่กระดูกเดินมา พิจารณาลมหายใจเข้าออก หรือพิจารณามรณานุสติ กรรมฐานเมตตาสำหรับคนเจ้าโทสะ พิจารณาทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นเพียงกองธาตุรวมกันแล้วในที่สุดก็สลายไปตามธรรมชาติ รู้ความจริงแล้วปล่อยวางไป ตั้งแต่ศีรษะลงมาเป็นธรรมทั้งนั้นเรียกว่าอนิจจังทุกขังอนัตตา อย่าขาดการพิจารณา เมื่อการพิจารณาร่างกายชัด ปีติจะตามมา ขยันพิจารณาบ่อยๆ ทำให้แยบคายบ่อยๆ ใจจะมีสมาธิการพิจารณาร่างกายคือเครื่องวัดความเพียรความเพียรย่อหย่อนแปลว่าจิตย่อหย่อน ความเพียรดี จิตดี สำหรับบางคนอาจไม่ถนัดการพิจารณาร่างกาย ใช้การพิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาในลักษณะเดียวกันคือจิตเป็นของเกิดดับเร็วมาก จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์และอนัตตา ทั้งดินน้ำไฟลมและจิตมีแต่เกิดดับ จึงไม่มีตัวตนอยู่จริง (อนัตตา)

.

นักปฏิบัติที่เห็นความจริงแล้วจะเป็นคนไม่บ่น (ในขณะที่ปุถุชนจะบ่นร้อนไป หนาวไป บ่นทุกอย่างที่ปรากฏ การบ่นแสดงว่ายังมีความอยาก (ตัณหา) คืออยากให้เป็นอย่างอื่น) นักปฏิบัติเห็นความจริงมันก็เป็นของมันอย่างนั้น อยู่กับความจริงได้อย่างเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่าติดสมมติ ไม่ใช่ติดความจริง

.

พระพุทธเจ้าเห็นความจริงว่าร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล อาหารเป็นสิ่งปฏิกูล จึงควรรู้จักการประมาณบริโภคสิ่งปฏิกูล ผักเกิดจากดิน ใต้ดินมีเชื้อโรคสิ่งสกปรกมากมาย ปุ๋ยก็มาจากมูลสัตว์ ผัดผักปรุงจนน่ากิน ชอบอยู่กับสิ่งปรุงแต่งต้องใส่น้ำมันหอย ปรุงรส อยู่กับการปรุงจนชิน ทำให้ไม่เห็นความจริง พระพุทธเจ้าเปิดความจริง แต่คนไม่สนใจ ทุกอย่างเป็นธรรมอยู่แล้วร่างกายเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มองอวัยวะให้ดีจะเห็นเป็นปฏิกูลทั้งนั้น

.

หากเห็นธรรมจริงจะไม่หลง สักแต่ว่าเห็น เห็นแล้วเข้าใจ ไม่รู้สึกอยากได้หรือไม่อยากได้ ไม่รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ สักแต่เห็นด้วยจิตอุเบกขา เรียกว่าเห็นความจริง จิตหลุดพ้นจากเครื่องผูกรัด ความอยากให้เป็นอย่างอื่นจะไม่มี เมื่อเห็นความจริงจะไม่อยาก ไม่ยึด อยู่ไหนก็มีแต่ความสุข เมื่อเห็นชัดจะปล่อยวางได้ คนที่ยังปล่อยวางไม่ได้เพราะยังไม่เห็นชัดยังเห็นเป็นตัวเป็นตนอยู่ เมื่อรู้ความจริงมันจะโกหกหลอกลวงต่อไปอีกไม่ได้ จิตคนเห็นจริงจะปลดเปลื้องพ้นจากเครื่องผูก(สังโยชน์) เห็นกายชัดคือเห็นอริยสัจจิตที่พ้นจากเครื่องครอบงำเป็นสมณะที่พึ่งได้อย่างแท้จริงอยู่ที่ไหนในโลกก็สุข

เป้าหมายของการปฏิบัติจึงให้รู้ชัดในกองสังขารทั้งหลายแล้วปล่อยวาง เห็นชัดจะไม่ยึดเอง จะไม่หลงในสังขารทั้งปวง

ธรรมทุกอย่างมีอยู่แล้วในร่างกายนี่เองไม่ต้องไปหาที่ไหน ร่างกายที่เป็นดินน้ำไฟลม ล้วนเป็นสิ่งเกิดดับ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) จะไปยึดอะไรหลงติดในสมมติมานานแสนนาน มิใช่ของจริง

.

จิตใจที่อยู่กับสิ่งที่ประเสริฐ จิตใจนั้นจะประเสริฐด้วย จึงควรหมั่นพิจารณาให้เห็นกายชัดจะเห็นจิตชัดด้วย ดังนั้นการปฏิบัติให้เห็นชัดส่วนใดส่วนหนึ่งจะเห็นแจ้งแทงตลอดได้เอง จึงให้พิจารณาจุดเดียวให้ชัดก็พอ เมื่อเห็นกายชัดจะเห็นอริยสัจ อยากเห็นอริยสัจจึงให้ดูกายให้ชัด