เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น.
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการอบรบเพื่อให้ความรู้เรื่อง “ก๊าซเรือนกระจกและการจัดการคาร์บอนเครดิต” ผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ เป็นประธานเปิดการอบรม คุณนารีรัตน์ ธนะเกษม รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่ความรู้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้เกียรติเป็นวิทยากร
คุณนารีรัตน์ กล่าวถึงประเด็น การเกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหายาวนาน อย่างที่ทราบกันดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา รวมถึงสภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นทุกปีความแปรปรวนทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบในทุกๆ มิติ ซึ่งในส่วนความรับผิดชอบนั้นไม่ใช่เพียงแค่องค์กรแต่รวมถึงพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกโดยวิธีการลดแบบง่ายๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง การจัดการขยะ การใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนบุคคล หรือซื้อของที่มีฉลากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น อีกทั้งยังพูดถึงเรื่องของคาร์บอนเครดิตอีกว่าเราสามารถที่จะหารายได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ต่างๆ
คาร์บอนเครดิตมีหลายประเภทตามกลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการ เช่น คาร์บอนเครดิตจากกลไกการ
พัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ใช้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีต้องลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโตกับประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไก CDM และคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่ TGO ให้การรับรอง เป็นต้น