ธรรมะดีๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค. 63 การรักษาจิตยิ่งชีวิต (สรุปคำสอนหลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีนาลโย) ถ่ายทอดโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา บวรกิติวงศ์
กรรมคือการกระทำ ใครทำอะไรย่อมได้ผลอย่างนั้น คนที่ทำอกุศลย่อมได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา คนที่ทำกุศลย่อมได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา ไม่มีใครสามารถหลีกหนีผลของการกระทำได้ สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจก็ล้วนเป็นผลของกรรมที่สะสมมาทั้งสิ้น พระองค์ทรงกล่าวว่าแท้จริงแล้วในโลกนี้ไม่มีคนดี ไม่มีคนชั่ว มีแต่ผู้มาตามกรรม ไปตามกรรม พระองค์กล่าวว่าร่างกายนี้เป็นผลของกรรมเก่า เมื่อรู้ความจริงนี้แล้วปัจจุบันควรสะสมกรรมอย่างไร เพราะนั่นคือสิ่งที่ต้องได้รับในกาลต่อมา สุขและทุกข์จึงเป็นสิ่งที่กำหนดได้
จิตเป็นของประเสริฐสุดเพราะอยู่กับเราตลอดเวลาและสะสมไปหลายภพหลายชาติ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงต้องรีบพัฒนา เมื่อเทียบกับลูก สามี พ่อ แม่ พี่ น้อง อยู่กับเราเพียงชาตินี้ชาติเดียวซึ่งถือว่าสั้นมาก มนุษย์มีจิตเดิมแท้ประภัสสรเปรียบเหมือนแสงพระอาทิตย์ที่มีพลังแรงกล้าแต่เพราะมีกิเลสจรมาเปรียบเหมือนมีเมฆมาบังแสงอาทิตย์ ต่อให้มีบุญบารมีเจิดจรัสมากเพียงไรแต่เมื่อมีเมฆบังแสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถเจิดจรัสได้ เมฆในที่นี้คือกิเลส จิตมนุษย์ถูกกิเลสครอบงำมานานหลายภพหลายชาติ ทำให้ไม่สามารถฉายแสงสดใสออกมาได้ จึงไม่ควรติดรักติดชังจนยอมให้จิตขุ่น อย่าเอาความคิดและอารมณ์มาเป็นตัวเรา ตัวเราคือจิตประภัสสรที่ไม่มีตัวตน มนุษย์ส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าความคิดและอารมณ์คือตัวเรา ความคิดและอารมณ์ไม่ใช่ตัวเราเพราะมันเกิดดับตลอดเวลาและรวดเร็วมากแล้วจะเป็นตัวเราได้อย่างไร หมั่นรักษาจิตให้ดี อย่าปล่อยให้เมฆมาบัง หากจากโลกนี้ไปด้วยจิตเศร้าหมองทุคติภูมิเป็นที่หวังได้
การรักษาจิตคือเวลาจะมีเรื่องกับใคร เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะทำร้ายกันจิตมีค่าที่สุดที่ต้องรักษา ไม่ว่าจะคิด พูด กระทำอะไรอย่าให้ต้องเสียใจในภายหลัง ต้องหลีกเลี่ยงการมีปัญหาหากพูดแล้วมีแต่ทำให้คนอื่นเสียใจ ตัวเองเสียใจก็ไม่ควรพูด ฝึกไม่ทะเลาะ ไม่ว่า ไม่นินทา พระองค์ตรัสว่าการนินทา การว่าคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะทำให้จิตผู้อื่นและตัวเองบอบช้ำเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ยอมเสียอย่างอื่นเช่นเสียเงินดีกว่าเสียใจ ผู้ฝึกยังไม่มากพอ สติจะมาช่วยไม่ทัน ดังนั้นเมื่อเสียใจก็ต้องรีบรักษาโดยเร็วที่สุดด้วยการปล่อยวางเรื่องราวนั้น ถือว่าเป็นการชดใช้กรรม ปล่อยวางทุกอย่างในโลก หากฝึกมาดีจะใช้เวลาน้อยลงไปเรื่อยๆ ฝึกบ่อยๆจะเรียกสติมาใช้งานได้ทัน บารมีมากสติมาเร็ว ควบคุมจิตได้เร็ว ฝึกจนสติมีอำนาจเหนือจิต
หมั่นอาบน้ำชำระจิตให้บ่อยกว่าการอาบน้ำชำระกาย จิตที่สิ้นกิเลสไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ไม่ทุกข์ ไม่ว่าลูกจะซนเพียงใด พ่อแม่ต้องเหนือกว่าจึงจะเอาลูกอยู่ พระองค์เปรียบจิตเหมือนลิงป่า ไม่ว่าลิงจะรวดเร็วปานใดหากมีสติปัญญาเหนือกว่า ก็สามารถฝึกลิงหรือฝึกจิตได้ ต้องอยู่เหนือจิตเหนือลิงจึงควบคุมได้ มีเพียงสติปัญญาเท่านั้นที่จะควบคุมจิตได้
ปัจฉิมโอวาททรงกล่าวว่าไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้ขาวรอบ เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่เพราะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนเหมือนกัน ข้อแรกไม่ทำบาปทั้งปวง (ละชั่ว) คือหมดเจตนาที่จะทำชั่วเพราะกลัวต่อผลของกรรม ข้อสองทำกุศลให้ถึงพร้อม (ทำดี) คือคิดดี พูดดี ทำดี ทั้งกายวาจาใจ การพูดหรือทำอะไรให้ต้องเดือดร้อนเสียหายไม่ทำ เราเป็นผู้ฝึกลิง เป็นเจ้าของลิง ไม่ใช่เป็นลิง ต้องฝึกอย่าให้เจ้าของลิงต้องเดือดร้อน ต้องมีอำนาจเหนือลิง ข้อสามทำจิตให้ขาวรอบคือจิตเดิมแท้ประภัสสรแต่เพราะมีกิเลสจรมาบังทำให้จิตเศร้าหมอง จึงควรหมั่นฝึกให้มีสติควบคุมจิตได้ทัน เมื่อไรก็ตามที่จิตมีกิเลสจึงเป็นหน้าที่ต้องเห็นกิเลสแล้วปล่อยวาง นี่คือวิธีฆ่ากิเลสของพระพุทธเจ้า เคยมีพระสงฆ์ (ชื่อเดิมคือนายฉันนะเป็นคนพาพระองค์หนีออกจากวังไปผนวชในป่า เพราะคิดว่าสนิทกับพระองค์มาก ทำให้ทำผิดศีลเป็นประจำเมื่อพระองค์เตือนครบ 3 ครั้งยังไม่ทำตาม พระองค์ก็จะฆ่าด้วยการปล่อยวางพระฉันนะออกจากใจคือเลิกเตือน ไม่สนใจ)
การปฏิบัติจึงมิใช่การเดินช้าๆ ทำอะไรช้าๆ ไม่ใช่ฝึกให้ลิงนิ่ง ไม่ใช่ฝึกให้จิตนิ่ง หากลิงนั่งนิ่งๆ นอกจากจะไม่มีโยชน์แล้ว ไม่นานลิงจะตาย การปฏิบัติจึงต้องคอยฝึกลิงให้เป็นธรรมชาติของมันแต่ไม่สร้างความทุกข์เดือดร้อนให้เจ้าของและผู้อื่น การปฏิบัติจึงไม่ใช่เพียงการนั่งสมาธิให้นิ่ง แต่ฝึกจิตไม่ให้เศร้าหมอง ไม่ให้ไฟเผา จิตเหมือนแร่ทองคำแท้ เจอแล้วต้องรีบสกัดแร่อื่นออกให้หมดให้เหลือแต่ทองแท้บริสุทธิ์
สรุปการละชั่วคือการมีเจตนาไม่ทำชั่ว เพราะกลัวไฟเผา ทำกุศลให้ถึงพร้อมคือสิ้นผู้เอา มีแต่ความพอ ไม่คิดเอาอะไรอีกหมดความอยาก หยุดดิ้นรน เมื่อสิ้นผู้เอาจะเป็นผู้มีใจที่พอ พอใจจึงหมายถึงใจที่รู้จักพอ ใจที่พอคือใจที่สิ้นผู้อยาก ทำจิตให้ขาวรอบคือหมั่นรักษาจิตให้สดใส เมื่อจิตหดหู่ต้องรีบทิ้งความหดหู่ด้วยการปล่อยวางเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เร็ว คิดเสียว่าชีวิตนี้สั้นนัก ใช้กรรมให้เขาไป จะได้หมดเวรหมดกรรม แล้วพยายามไม่สร้างกรรมใหม่ให้เป็นภาระขึ้นมาอีก จิตเป็นสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิต เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม หากไม่รักษาจิตด้วยตัวเองแล้วใครจะมาช่วยเจ้าได้ สาธุ