x
Submitted by CUEDU_PR on 11 March 2021

เมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. กิจกรรม EDU CoWorking ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เสวนา หัวข้อ "นวปทัสถานการเรียนการสอน New Normal of Teaching and Learning"

.

ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สลา สามิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

โดยมีประเด็นที่น่าสนใจและเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ว่าแม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนในสังคมทั่วโลก และอื่น ๆ แต่ก็ยังมีความโชคดีที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจหาวิธีและกระบวนการรับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามีบทบาทให้สอดรับกับสถานการณ์

.

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ มองว่า การจัดการศึกษาไทย จำเป็นต้องศึกษาบริบทเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแผนการศึกษา (ระบบการศึกษา) ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาคนไทยให้เป็นคนไทย ภายใต้บริบทไทยเพื่อผลิตคนไทยให้เป็นคนไทย ดูบริบทประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพแวดล้อมเป็นฐานข้อมูล ปรับการเรียนและจัดการเรียนการสอนในยุคโควิดให้เหมาะสม โรงเรียนควรเป็นเวทีจำลองสังคมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ เรียนคิด เรียนทำ เรียนแก้ปัญหา และเรียนการดำรงชีวิตให้เป็น

.

ผู้สอนต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนของมนุษย์ เช่น สิ่งที่ผู้เรียนสนใจหรืออยากรู้ สิ่งที่ผู้เรียนถนัด และคอยส่งเสริมให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา มีการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมหรืองานที่กำลังทำอยู่มาสู่การศึกษา มากกว่าการเรียนภาคทฤษฎี รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา มิใช่มุ่งให้นักศึกษาฟังความรู้ ความคิดเห็นของตนเพียงอย่างเดียว

.

ควรมีการปรับเปลี่ยนบทบาทในห้องเรียนให้ผสมผสาน ประกอบด้วย 1.ครูเป็นผู้นำ 2.นักเรียนเป็นผู้นำ 3.นักเรียนเป็นกลุ่มผู้นำ ให้ทุกคนมีบทบาทในห้องเรียนเพื่อเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ มีการจัดระบบการสอนให้สมบูรณ์ และมีการประเมินอย่างครบวงจร ทั้งก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน

.

ในมุมมองของ ศ.ดร.ชัยยงค์ มองภาพอนาคตของการศึกษาไทยว่า ต้องใช้ภาพอดีตเป็นบทเรียน เพื่อช่วยนักการศึกษาไทย สามารถสร้างภาพอนาคตการศึกษาของชาติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้หลงทางพัฒนา “คนไทย” ให้เป็น “ฝรั่งหรือต่างชาติ” ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องหาแนวทาง โดยการจัดระบบที่เหมาะสมกับการศึกษาตามวิถีไทยผสมผสานกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสากลที่พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนี้

.

1.ครูต้องปรับบทบาทการสอน จากการพ่นความรู้เป็นการพูดให้น้อยลง และแลกเปลี่ยนกับนักเรียนให้นักเรียนได้มีบทบาทในชั้นเรียน

2.การเรียนทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือโรงเรียน

3.ครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ในอนาคตบ้านต้องเป็นศูนย์ความรู้ จึงเป็นแนวคิดของ Home school

4.ต้องมีระบบการสอนที่กำหนดไว้ชัดเจน การสอนกำหนดความสามารถที่ผู้เรียนจะทำได้

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/EtcCommunity/videos/461698201632535