x
Submitted by CUEDU_PR on 7 October 2020

นิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการธนาคารเวลา ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ไว้ประการหนึ่ง คือ ควรมีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ ซึ่งนิสิตจะต้องทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อที่จะมีการบันทึกเก็บไว้เป็นประวัติการเป็นบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

อีกทั้งนิสิตยังได้ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครโดยมุ่งเน้นแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี (พ.ศ.2561-2580) มีเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย

.

ประโยชน์ของธนาคารเวลา คือ การสร้างค่านิยมให้สังคมรู้คุณค่าของการแบ่งปัน ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีกระบวนการคือ ฝากเวลาไว้กับธนาคารเวลาและถอนเมื่อต้องการ ซึ่งการฝากเวลานั้นเป็นการให้บริการหรือการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

.

รูปแบบของธนาคารเวลา ประกอบด้วย การฝากเวลาไว้กับธนาคาร ในลักษณะของการที่ผู้ให้บริการเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุด้านสุขภาพและ/หรือสังคม โดยที่ธนาคารเวลาจะมีการบริหารจัดการโดยมีคณะกรรมการผู้รับรองเวลาและแปลงเวลาของผู้ให้บริการเป็นคะแนนสะสม ธนาคารเวลาจะมีการจัดเตรียมความพร้อมของผู้ให้บริการ ประเมินความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการรับบริการ และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมโดยการจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ฝากกับผู้รับบริการ

.

ซึ่งวิธีการถอนต้องทำการกำหนดร่วมกันกับผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่ว่าต้องถอนในรูปแบบใด โดยที่องค์ประกอบของของธนาคารเวลาจะประกอบด้วยคณะกรรมการของหน่วยงานและพื้นที่เพื่อร่วมกันกำหนดเกณฑ์ของธนาคารเวลาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลแก่ผู้ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารเวลามีรูปแบบที่ชัดเจนและมีความมั่นคงแก่ผู้ให้บริการ (ผู้ฝาก)

.

ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dop.go.th/dow.../knowledge/th1561952989-231_0.pdf